บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เมืองพิษณุโลก

เมืองพิษณุโลก

เขียนโดย ผศ.สุภวรรณ พันธุ์จันทร์

ลักษณะทางกายภาพของเมืองพิษณุโลก
จังหวัดพิษณุโลกตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง มีพื้นที่ 6,759,915 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศมีภูเขาและที่ราบสลับกับป่าไม้ในเขตภาคตะวันออก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มอยู่ทั่วไป มีแม่น้ำที่สำคัญไหลผ่าน คือ แม่น้ำน่าน แม่น้ำยม แม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำวังทอง ( แม่น้ำเข็ก ) จังหวัดพิษณุโลก มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้คือ
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์และบริเวณอำเภอชาติตระการ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ยาวประมาณ 24 กิโลเมตร
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมืองพิจิตร และอำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอด่านซ้ายจังหวัดเลย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอกงไกรลาศและอำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัยและอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร
จังหวัดพิษณุโลกเป็น จังหวัดที่ประชาชนส่วนใหญ่ ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะพืชไร่ ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง และถั่วเหลือง สำหรับการทำนาจะทำนาทั้งนาปีและนาปรัง โดยทำนาในลักษณะนาดำ นาหว่าน นาน้ำตม มีทั้งข้าวไร่และข้าวเหนียวดำ สำหรับไม้ผลและไม้ยืนต้นในจังหวัดพิษณุโลก มีไม้ผลมากมายหลายชนิด เช่น มะม่วงอกร่อง มะปราง ส้มเขียวหวาน มะขามหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการปลูกองุ่น กระท้อน มะม่วงมันพันธุ์ต่างๆ ชมพู่ อีกมากมายและมีผลไม้ตามฤดูกาลที่มีผลผลิตดีมีคุณภาพ นอกจากนี้แล้วชาวบ้านบางอำเภอมีการทำสวนผักเพื่อการค้าอีกหลายชนิด เช่น คะน้า แตงกวา บวบ มะระจีน เป็นต้น

ประชากร
ประชากรในจังหวัดพิษณุโลก มีเชื้อสาย ไทย จีน อินเดีย ลาว และชนชาวเขา ประชากรอาศัยอยู่กระจายในพื้นที่ต่างๆ ภายในจังหวัดและมักจะตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำและริมถนนเป็นจำนวนมาก ความหนาแน่นของประชากรจะอยู่ในเขตอำเภอเมืองพิษณุโลก

การปกครองของจังหวัดพิษณุโลก
จังหวัดพิษณุโลกมีการจัดระบบการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล เมื่อปี พ.ศ. 2437 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 ) ในปัจจุบันจังหวัดพิษณุโลกแบ่งการปกครองออกเป็น 3 รูปแบบคือ

1. การบริหารราชการส่วนกลาง ประกอบด้วยส่วนราชการที่สังกัดส่วนกลางมีหน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ของ จังหวัด รวม 116 หน่วยงาน มีทุกกรม ทุกกระทรวง
2. การบริหารราชการส่วนภูมิภาค จัดรูปแบบการบริหารราชการแผ่นดินเป็น 2 ระดับ คือ ระดับจังหวัด ประกอบด้วยส่วนราชการประจำจังหวัดจำนวน 32 หน่วยงานเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการกับส่วนราชการรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ระดับอำเภอ ประกอบด้วย 9 อำเภอคือ อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอวังทอง อำเภอนครไทย อำเภอบางระกำ อำเภอบางกระทุ่ม อำเภอพรหมพิราม อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอเนินมะปราง และอำเภอชาติตระการ
3. การบริหารส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย เทศบาลนคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบล ในปีพ.ศ. 2546 มีการทดลองการปกครองในรูปผู้ว่า ซีอีโอ

การศึกษา
จังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดการศึกษาเพราะว่ามีการจัดการศึกษาทุกหน่วยงานใน จังหวัดนี้และจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา มีจำนวนสถานศึกษาทั้งสิ้น 1,123 แห่ง ( มีทั้งการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนและการศึกษานอกระบบโรงเรียน) นอกจากนี้ยังมีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคเหนือตอนล่าง และมีงานฝีมือต่างๆ ที่ดำเนินงานโดยภาครัฐและภาคเอกชนที่ส่งเสริมในเรื่องการฝึกอาชีพให้กับ ประชาชนอีกมากมาย

ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด
จังหวัดพิษณุโลก มีตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด คือ ภาพพระพุทธชินราช
คำขวัญของจังหวัดพิษณุโลก
“พระพุทธชินราชงามเลิศ ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร
สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก
ถ้ำน้ำตกหลากตระการตา”

สีประจำจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ สีม่วง

ต้นไม้ประจำจังหวัด คือ ต้นพยอม

ต้นไม้มงคลประจำจังหวัด คือ ต้นกาสะลอง หรือ ต้นปีบ

ประวัติเมืองพิษณุโลก
เขียนโดย ผศ.สุภวรรณ พันธุ์จันทร์

เมืองพิษณุโลก เป็นเมืองโบราณมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน กล่าวคือมีการพบหลักฐานในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี และจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งหลักฐานต่างๆ ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์จังหวัดพิษณุโลก ( อยู่บริเวณภายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือวัดใหญ่ ด้านเดียวกับที่ประดิษฐานพระพุทธชินสีห์ )

เมืองพิษณุโลกเคยมีฐานะเป็นเมืองหลวง เมืองลูกหลวง และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ และจากศิลาจารึกหลักที่ 2 ปรากฏชื่อเมืองพิษณุโลกว่า “เมืองสระหลวง-สองแคว” โดยมีพระมหาธรรมราชาลิไททรงเสด็จมาปกครองเมืองพิษณุโลกถึง 7 ปี และสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเสด็จมาปกครองเมืองพิษณุโลกนานถึง 25 ปี

จากการศึกษาในพงศาวดารและคนเฒ่าคนแก่ที่เล่าให้ลูกหลานฟังบอกว่า เมืองพิษณุโลกมีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น “เมืองสองแคว” “เมืองสระหลวง-สองแคว” “เมืองสองแก้ว” “เมืองทวิสาขะ” “เมืองโอฆบุรี” “เมืองจันทบูรณ์” “เมืองพระพิษณุโลก” “เมืองพิษณุโลก”และ”เมืองอกแตก” เป็นต้น

เมืองพิษณุโลก จากข้อสันนิษฐานอธิบายว่าสร้างประมาณปีพ.ศ. 1500 ในสมัยพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ผู้ครองเมืองเชียงแสนได้ยกทัพมาตีเมืองศรีสัชนาลัยได้ในสมัยนั้นมีพระเจ้า อสุจราช เป็นเจ้าผู้ครองนครศรีสัชนาลัย และในการรบครั้งนั้นปรากฏว่า พระเจ้าอสุจราช เจ้าเมืองศรีสัชนาลัยทรงยอมแพ้ และทรงขอเป็นพระราชไมตรีด้วย โดยพระเจ้าอสุจราชทรงถวายพระราชธิดาทรงนามว่าพระนางปทุมเทวี ให้แก่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ในเวลาต่อมาพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ทรงคิดจะสร้างเมืองและได้ขยายอาณาเขตลงมาทางใต้ พระองค์จึงโปรดให้ “จ่านกร้อง” กับ “จ่าการบุรณ์” คุมไพร่พลชาวเชียงแสนมาก่อสร้างเมือง ในบริเวณเขาพนมสมอ หรือปัจจุบันเรียกว่าเขาสมอแครง โดยจ่านกร้องสร้างเมืองทางด้านตะวันตก ส่วนจ่าการบุรณ์สร้างเมืองทางด้านตะวันออก ทั้งสองแข่งกันสร้างเมืองและสามารถสร้างเมืองเสร็จภายใน 1 ปี 7 เดือน เมื่อเมืองสร้างเสร็จ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ทรงตั้งชื่อเมืองว่า “พิษณุโลก” และเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองโอฆบุรี” ส่วนเมืองทางด้านทิศตะวันตกให้ชื่อว่า เมืองจันทบูรณ์

เมืองพิษณุโลก มีอีกชื่อหนึ่งที่หลายคนมักจะคุ้นกันดีได้แก่ “เมืองสองแคว” ชื่อเมืองสองแควมาจากการที่เมืองตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแควใหญ่ ( แม่น้ำน่าน ) และแม่น้ำแควน้อยซึ่งไหลไปบรรจบกันที่แม่น้ำน่าน ตำบลปากโทก อำเภอเมืองพิษณุโลก ซึ่งอยู่เหนือเมืองพิษณุโลกไปประมาณ 10 กิโลเมตร ที่ตั้งเมืองสองแควเก่านั้นปัจจุบัน คือ บริเวณวัดจุฬามณี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองพิษณุโลก (วัดจุฬามณี ยังอยู่จนถึงปัจจุบัน ) ต่อมาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงโปรดเกล้าให้เปลี่ยนชื่อ ”เมืองสองแคว”ใหม่ เป็น”เมืองพิษณุโลก” โดยยกฐานะเมืองพิษณุโลกจากเมืองลูกหลวงเป็นราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยา ในปีพ.ศ. 2006-2031 โดยในช่วงเวลาดังกล่าวพิษณุโลกเป็นราชธานีนานถึง 25 ปี และเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสวรรคต เมืองพิษณุโลกก็มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยา และสมัยอื่นๆ ต่อมา

เมืองพิษณุโลกปัจจุบันสันนิษฐานว่าตั้งซ้อนอยู่บนเมืองสองแควเดิมเพราะปรากฏ หลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น หลักฐานเกี่ยวกับพระราชวังจันทน์ที่อยู่ในโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ซึ่งย้ายไปก่อสร้างอาคารเรียนใหม่แล้ว และพระราชวังจันทน์ก็กำลังดำเนินการบูรณะโดยกรมศิลปากร หรือแม้กระทั่งถนนลาดยางสายหลังสถาบันราชภัฏ พิบูลสงคราม กรมศิลปกรได้ขุดพบกำแพงเมืองเก่าและวัตถุโบราณหลายชิ้น เวลาที่เราขับรถผ่านถนนเส้นนี้เรามักจะนึกถึงว่าเรากำลังขับรถอยู่บนกำแพง เมืองทุกคราวไป ขณะนี้กรมศิลปากรได้ทำการปิดหลุมที่ขุดหลังในช่วงถนนหลังสถาบันดังกล่าวแล้ว ซึ่งในอดีตกำแพงเมืองเส้นนี้คงใหญ่โตมาก เพราะพม่าเคยล้อมเมืองอยู่นานก็ไม่สามารถทำศึกชนะได้ จนกระทั่งแม่ทัพพม่าชื่ออะแซหวุ่นกี้ต้องขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี ( ขณะนี้กำแพงเมืองดังกล่าวกำลังอนุรักษ์โดยกรมศิลปากร )

พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชข้อมูลจากแผ่นศิลาจารึกหลังอนุสาวรีย์ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
จังหวัดพิษณุโลก ( คัดลอกข้อความ )
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พระบรมราชโอรสใน
“สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และ พระวิสุทธิกษัตรี
ทรงมีพระราชสมภพที่วังจันทร์ เมืองพิษณุโลกเมื่อ พุทธศักราช 2098
เสด็จดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชครองเมืองพระพิษณุโลกเมื่อพุทธศักราช 2114
ได้ทรงหลั่งทักษิโณทก ประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พุทธศักราช 2127
เสด็จเถลิงสิริราชสมบัติเมื่อ พุทธศักราช 2133
ได้ทรงกระทำยุทธหัตถีในท่านกลางสมรภูมิและทรงมี
ชัยชนะพระมหาอุปราช แห่งกรุงหงสาวดี ณ เมืองสุพรรณบุรี
เมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2135
ทรงสวรรคตเมื่อ พุทธศักราช 2148
ท่ามกลางกองทัพไทย ณ เมืองหาง ในระหว่าง
ยาตราทัพไปทำสงครามกับพระเจ้าอังวะ
สิริรวมพระชนม์มายุ 50 พรรษา
ตลอดพระชนชีพของพระองค์
ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อเอกราชและความมั่นคงของชาติไทย
พระราชอาณาจักรแผ่ไปกว้างขวางด้วยพระบรมเดชานุภาพ
เดชะพระบารมีปกเกล้าฯ ประชาชาติร่มเย็นเป็นสุข และ
สามารถรักษาความเป็นไท อยู่ชั่วนิรันดร”

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองพิษณุโลกยังเป็นเมืองลูกหลวง หรือเมืองเอกที่ขึ้นตรงกับกรุงเทพมหานครจนในปีพ.ศ.2437 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จังหวัดพิษณุโลกก็จัดระบบการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า “มณฑลพิษณุโลก” และเมื่อมีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล พิษณุโลก เปลี่ยนเป็นชื่อใหม่เป็น “จังหวัดพิษณุโลก”


เกร็ดเล็กๆน้อยๆ ในการบวงสรวงจัดของเสวยถวาย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช


1. สุรา ( หล้าขาว 1 ไห ปิดด้วยผ้าแดง )
2. ข้าวตู 1 จาน
3. ข้าวตัง 1 จาน
4. ปลาช่อนปิ้ง 1 จาน
5. ปลาช่อนสดเผา 1 จาน
6. น้ำผึ้ง 1 จาน
7. กล้วยน้ำว้า 1 จาน
8. อ้อยควั่น 1 จาน
9. ขนุน 1 จาน
10. ส้มโอ , ส้มซ่า 1 จาน
11. มะพร้าวอ่อน 1 จาน
12. ขนมดอกโสน 1 จาน
13. ขนมน้ำนมข้าว 1 จาน

สำหรับท่านที่สนใจเรื่องพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อาจหาซื้อหนังสือได้ที่ศาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ในโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ชื่อหนังสือ “ตามรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ในหนังสือเล่มนี้จะทำให้ท่านเข้าใจพระราชประวัติของพระองค์ท่านโดยละเอียด

ของดีเมืองพิษณุโลก
เขียนโดย ผศ.สุภวรรณ พันธุ์จันทร์

ของดีเมืองพิษณุโลกมีหลายอย่าง ในที่นี้จะขออธิบายเพียง 2 เรื่องคือ เรื่องวัดต่างๆ ในจังหวัดพิษณุโลก และสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดพิษณุโลก โดยมีรายละเอียดคือ

1. วัดต่างๆ ในจังหวัดพิษณุโลก วัดต่างๆ ในจังหวัดพิษณุโลกที่สำคัญมีหลายวัด เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดราชบูรณะ วัดนางพญา วัดอรัญญิก วัดวิหารทอง วัดจุฬามณี เป็นต้น สำหรับในบทความนี้จะเขียนเพียงสามวัดพอเป็นสังเขปคือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดจุฬามณี และวัดนางพญา ดังจะเสนอเรียงลำดับต่อไปนี้

1.1 วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ชาวบ้านมักจะเรียกว่า “วัดใหญ่” วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย (พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก จากข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระองค์เดียวกันกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท) ในวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 พุทธศักราช 1900 ภายในวัดมีพระพุทธชินราชประดิษฐานเป็นพระประธานภายในอุโบสถที่ถูกสร้างอย่าง งดงามและได้สัดส่วนตามหลักสถาปัตยกรรมไทยที่ยากนักที่จะมีช่างในยุคปัจจุบัน เสมอเหมือน

“พระพุทธชินราช”

เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูง 7 ศอก คืบ 10 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในโลก และตามประวัติการสร้างพระพุทธชินราชนั้นก็เป็นเรื่องที่อัศจรรย์ ยิ่ง เพราะมีตำนานเล่าว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์แต่สามารถหล่อได้สำเร็จเพียง 2 องค์ คือ พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา แต่สำหรับการหล่อพระพุทธชินราชนั้น ทรงทำอย่างไรก์หล่อไม่สำเร็จและต้องทำการหล่อหลายครั้ง แต่ทองก็เดินไม่ตลอดทั้งองค์ เรียกว่าหล่อไม่ติด จึงทำให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ทรงนำข้าราชบริพารทั้งหมดตั้งสัจจะกริยาอธิษฐานและรักษาอุโบสถศีล เพื่อจะหล่อนพระพุทธชินราชให้สำเร็จ ในขณะทำการหล่อครั้งที่ 4 นั้นก็ปรากฏว่ามีตาปะขาวหรือชีปะขาวมาช่วยหล่อโดยมิได้พูดกับใครเลย เมื่อหล่อพระพุทธชินราชเสร็จ ตาปะขาวก็เดินหายไปทางเหนือของแม่น้ำน่านและเมื่อนำองค์พระพุทธชินราชที่ หล่อเสร็จออกจากพิมพ์ก็พบว่าทองเดินแล่นตลอดทั้งองค์ หล่อได้ติด
นับ ได้ว่าพระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีพุทธลักษณะและพุทธศิลป์ ที่งดงามเกินกว่าที่ฝีมือมนุษย์ธรรมดาจะสร้างได้ และจากการที่มีตาปะขาวมาช่วยในการเททองในครั้งนี้จึงทำให้การหล่อพระพุทธชิน ราชก็เสร็จ ในวันพฤหัสบดี ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง นพศกจุลศักราช 319 พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ คือ พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดาและพระพุทธชินราช ประดิษฐานในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงอันเชิญพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาไปประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศ วิหาร และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้หล่อพระพุทธชินราชจำลองและโปรดเกล้าให้นำพระพุทธชินราชจำลองไป ประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สำหรับพระพุทธชินราชยังอยู่คู่เมืองพิษณุโลกจวบจนทุกวันนี้

ลักษณะพุทธศิลป์ของพระพุทธชินราช
ข้อมูลนี้คณะทำงานศึกษาโดยวิธีการสัมภาษณ์จาก พระราชรัตนมุนี เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร( ปัจจุบันเลื่อนยศเป็นพระเทพกวี ) จ่า ทวี บูรณเขตต์ ดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ บุคคลดีเด่นด้านวัฒนธรรมของจังหวัดพิษณุโลก และคุณลุงมวลศักดิ์ เฟื่องเพียร ช่างปั้นพระพุทธรูปฝีมือโบราณ โดยจะปั้นพระพุทธรูปอิสระและปั้นเพียงคนเดียวตั้งแต่ขั้นแรกจนถึงขั้นสุด ท้าย
( สัมภาษณ์โดย ผศ.สุภวรรณ พันธุ์จันทร์ และ อ.อภิชาต โคกทอง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพิษณุโลก )

พุทธศิลป์ของพระพุทธชินราช โดยสรุปมีดังนี้
1. พระวรกายอ่อนช้อย
2. พระพักตร์ค่อนข้างกลม
3. พระรัศมีสูงกว่าแบบสุโขทัยบริสุทธิ์
4. พระปรางค์และพระวรกายอ่อนช้อยแต่จะอวบกว่าแบบสุโขทัยบริสุทธิ์
5. พระขนงโก่ง มีอุนาโลม
6. พระเกตุมาลาเป็นรูปเปลวเพลิง เส้นพระเกศาเป็นก้นหอยวงขวา
7. พระชงฆ์บาง องค์ออกจะอ่อนโค้ง
8. นิ้วพระหัตถ์เท่ากันทั้งสี่นิ้ว เป็นลักษณะที่เห็นเด่นชัด
9. ฐานทำเป็นบัวคว่ำบัวหงายเตี้ยๆ มีลักษณะอ่อนช้อย
10. พระอาการดูสงบเสงี่ยมแต่ดูออกแข็งมิได้อ่อนช้อยนุ่มนวลแบบพระสมัยสุโขทัย
11. มีซุ้มเรือนแก้วที่ทำด้วยไม้แกะสลักมาสร้างภายหลังในสมัยกรุงศรีอยุธยาและ ที่ปลายซุ้มแกะสลักเป็นรูปมกร (ลำตัวคล้ายมังกรแต่มีงวงคล้ายช้าง) และตัวเหรา ( คล้ายจระเข้) อยู่ตรงกลางซุ้ม และมีเทพอสุราค่อยปกป้ององค์พระอยู่ 2 องค์ ชื่อ ท้าวเวสสุวัณ และอารวกยักษ์

ข้อสังเกตจากการสัมภาษณ์ ได้ วิเคราะห์ถึงลักษณะพุทธศิลป์ของพระพุทธชินราช ว่าสาเหตุที่องค์พระพุทธชินราชมีความงดงามมากอาจเป็นเพราะ สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ทรงฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากและทรงมีพระประสงค์แน่วแน่วว่าจะทรง สร้างพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานให้กับเมืองพิษณุโลกให้ได้ซึ่งในขณะนั้น เมืองพิษณุโลกเป็นเมืองที่กำลังสร้างเสร็จใหม่ๆ และเมื่อถึงขั้นตอนการเททองก็ปรากฏว่ามีเพียงพระพุทธรูปจำนวนสององค์เท่า นั้นที่สามารถเททองและทองแล่นได้โดยตลอด ทั้งองค์ คือ พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา แต่สำหรับพระพุทธชินราชนั้น ทำการเททองอยู่หลายครั้งก็ไม่สามารถเททองได้สำเร็จได้ ในการแก้ไขพระพุทธชินราชครั้งแรกๆ สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไททรงขึ้นหุ่นองค์พระด้วยพระองค์เอง ดังนั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทก็จะต้องทอดพระเนตรเห็นจุดอ่อนขององค์พระ ที่ทรงขึ้นหุ่นว่าจุดใดที่ไม่สามารถเททองให้ตลอดได้ ปรากฏว่าครั้งที่สองก็ยังไม่สามารถเททองให้แล่นโดยตลอดได้ สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทจึงทรงขึ้นหุ่นองค์พระใหม่เป็นครั้งที่สาม และจากการขึ้นหุ่นหลาย ครั้งและประสบการณ์ในการปั้นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหลายๆ ครั้งนี้เอง ก็อาจทำให้พระองค์เห็นข้อผิดพลาดในการปั้นพระและอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใน บางตำแหน่งขององค์พระที่เมื่อเททองแล้วทองไม่สามารถเดินตลอดทั้งองค์ ประกอบกับแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา ความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการจะสร้างพระพุทธรูปให้กับเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็น เมืองที่สร้างเสร็จใหม่ๆ ดังนั้นการขึ้นหุ่นพระพุทธรูปในครั้งนั้นก็จะต้องพยายามหาจุดอ่อนที่ทำให้ ทองแล่นไม่ตลอดให้ได้และในครั้งที่สามเมื่อทรงปั้นพระและถึงขั้นตอนการเททอง ก็พบว่าทองยังเหมือนเดิมคือไม่สามารถเททองได้ หล่อไม่ติด ในครั้งนี้สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทและมเหสีพร้อมด้วยเหล่าข้าราชบริพารทั้ง หมดที่เข้าร่วม ในพิธีหล่อพระพุทธรูปได้ทรงถวายสัจจะกริยาอธิษฐานและได้รักษาอุโบสถศีลอยู่ ในพระอุโบสถภายในวัดนานถึง 7 วัน การที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไททรงรักษาศีลจึงทำให้เกิดภาวะจิตที่สะอาด ใสบริสุทธิ์ ภาวะจิตที่สว่างย่อมเกิดปัญญาในการมองเห็นช่องทางในการสร้างพระพุทธรูปและ ประกอบกับภาวะแห่งบุญญาอธิษฐานทำให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไททรงขึ้นหุ่น องค์พระพุทธชินราชตามพระราชหฤทัยของพระองค์เอง และการที่ทรงขึ้นหุ่นพระพุทธชินราชหลายครั้งนี้เองรูปของพระพุทธชินราชจึง อยู่ในพระราชหฤทัยของพระองค์ ซึ่งเท่ากับว่าการที่พระองค์ทรงขึ้นหุ่นองค์พระหลายๆ ครั้งก็จะยิ่งมีการคิดแก้ไของค์พระให้ดีขึ้น เมื่อมีประสบการณ์หลายครั้งในการขึ้นหุ่นองค์พระ ทำให้การขึ้นหุ่นองค์พระพุทธชินราชครั้งสุดท้ายยิ่งจะทำให้สัดส่วนถูกต้อง ตามพุทธลักษณะในหลักศาสนาโดยสมบูรณ์และในหลักศาสนาก็อธิบายถึงลักษณะของมหา บุรุษว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ประกอบกับการที่ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา และทรงถือศีลก่อนจะขึ้นหุ่นพระในครั้งหลังสุดซึ่งก็เหมือนกับว่า ได้ทรงพักพระอิริยาบถหลังจากที่ทรงปั้นพระมาหลายวัน ทำให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไททรงมีจิตที่สงบและจากแรงอธิษฐานในครั้งนั้น ก็ทำให้ทรงขึ้นหุ่นองค์พระพุทธชินราชมีลักษณะพุทธศิลป์ที่งดงามมากและเป็น แบบเฉพาะ ของพระพุทธชินราชที่เกิดจากแรงศรัทธาของพระองค์จริงๆ การขึ้นหุ่นองค์พระพุทธชินราชในครั้งสุดท้ายนี้ถือได้ว่า เป็นศิลปะพิษณุโลกที่บริสุทธิ์จริง ๆ ดังจะเห็นว่ามีพุทธศิลป์หลายอย่างที่ต่างจากการปั้นพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย เช่น การสร้างพระหัตถ์ที่มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ดังที่เรียกว่า “ฑีฆงคลี” การสร้างพระวรกายที่อ่อนช้อยงดงาม พระขนงโก่ง และระหว่างพระขนง มีพระอุณาโลมเป็นรูปหยดน้ำ สร้างด้วยรัตนะชาติสีแดง และถ้าสังเกตให้ละเอียดจะเห็นพระหนุ มีเส้นครึ่งวงกลมซึ่งทำให้รับกับพระพักตร์กลมได้สัดส่วน งดงามยิ่งนัก จนมีคำกล่าวว่า “พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปที่ปั้นโดยฝีพระหัตถ์ขององค์อัมรินทร์เจ้าแปลง กายมาเป็นตาปะขาวช่วยทำการเททองให้“

พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในประเทศไทย และงดงามที่สุดในโลกอีกด้วย พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลกมาช้านานและจะเป็นพระ พุทธรูปคู่ชาติไทยตลอดไป ทุกคนที่มาเยือนเมืองพิษณุโลกก็จะต้องไปนมัสการพระพุทธชินราชเพื่อเป็นศิริ มงคลแก่ตนและครอบครัว

1.2 วัดจุฬามณี

วัดจุฬามณีตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ 5 กิโลเมตรและตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน วัดจุฬามณีเป็นวัดโบราณที่มีมาก่อนกรุงสุโขทัย แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าใครสร้าง วัดจุฬามณีเป็นวัดที่สำคัญและมีประวัติที่น่าสนใจน่าศึกษามาก ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยาได้ทรงสร้างพระวิหารและทรงออกผนวกที่วัดแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2007 และสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงออกผนวชเป็นเวลา 8 เดือน 15 วัน ในครั้งนั้นมีเหล่าข้าราชการและข้าราชบริพารออกบวชตามจำนวนถึง 2,348 รูป ในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดจุฬามณีอยู่ในสภาพวัดร้างและในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์ เสด็จออกตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือก็มาพบวัดจุฬามณี ดังนั้นวัดจุฬามณีจึงถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2451โดย ภายในบริเวณวัดจุฬามณีมีสิ่งที่มีค่าสูงทางศิลปะเป็นอย่างมาก โดยมีโบราณสถานที่สำคัญคือ พระปรางค์แบบขอม แต่มีขนาดไม่ใหญ่นัก มีมุขด้านหน้าและมุขต่อกับองค์พระปรางค์ ทางด้านหน้ายาวกว่าด้านข้าง ความกว้างของฐานยาว 11 เมตร ความยาวของฐานยาว 18เมตรก่อด้วยศิลาแลงด้านหน้าเป็นตรีมุขและที่ด้านนอกพระปรางค์มีลายหงส์ ซึ่งเหมือนกับลายที่องค์พระปรางค์รอบวัดพระศรีมหาธาตุที่จังหวัดลพบุรี นอกจากนี้ยังมีศิลาจารึกที่มณฑปพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้สร้างขึ้น

1.3 วัดนางพญา

วัดนางพญาอยู่ตรงข้ามกับวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดนางพญามีชื่อเสียงเรื่องพระเครื่องที่มีชื่อว่า “พระนางพญา” โดยในปีพ.ศ. 2444 และพ.ศ. 2497 ได้มีการขุดพบกรุพระนางพญา ทำให้วัดแห่งนี้มีชื่อเสียงเรื่องพระเครื่อง และเป็นพระเครื่องที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพิษณุโลก

ปัจจุบันวัดนางพญา ได้รับการบูรณะอยู่ในสภาพดี มีพระเครื่อง และมีสมุนไพร จำหน่ายนอกจากนี้ยังมีชมรมพระเครื่อง (คาถาบูชาพระเครื่อง อิทธิ ฤทธิ พุทธะ นิมิตตัง ขอเดชเดชะจงมาเป็นที่พึ่งแก่ มะ อะ อุ นี้เถิด ) นอกจากนี้ก็มีชมรมที่เกี่ยวกับการนวดตัวแผนโบราณ ชมรมที่เกี่ยวกับการนวดฝ่าเท้าเพื่อช่วยรักษาโรคให้กับบุคคลทั่วไปอีกด้วย


2. สถานที่ต่างๆ ในจังหวัดพิษณุโลก สำหรับสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระราชวังจันทน์ และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ดังจะอธิบายเป็นข้อๆ

2.1 ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระราชวังจันทน์

ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระราชวังจันทน์ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียน พิษณุโลกพิทยาคม อยู่ข้างๆ ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลกแต่เดิมคือ พระราชวังจันทน์เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดศาล และมีพระราชดำรัสในพิธีเปิดศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก วันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2505
“.....ใน การกอบกู้เอกราชและเสริมสร้างความมั่นคงแก่ชาติบ้านเมืองเป็นลำดับมานั้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและบรรพบุรุษของเราทั้งหลาย ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานาประการมาด้วยความเหนื่อยยากและความเสียสละแล้วเพียงไร ก็ทราบกันอยู่แล้ว ฉะนั้นควรที่เราทั้งหลายจะพยายามช่วยกันรักษามรดกอันล้ำค่า ซึ่งได้ตกทอดมาถึงเราไว้ให้ดี อย่าให้สูญสลายไปได้......” ซึ่งประชาชนทั่วประเทศได้ร่วมกันให้กรมศิลปากรสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวร มหาราชขึ้น ลักษณะสถาปัตยกรรมของศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นรูปทรงไทยโบราณตรีมุข ภายในมีพระรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่าองค์จริงประทับนั่ง พระหัตถ์ทรงสุวรรณภิงคารหลั่งน้ำในอิริยาบถประกาศอิสระภาพที่เมืองแครง
จังหวัดพิษณุโลก ได้ถือว่าวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เป็นวันจัดงานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งจะมีการสักการะที่ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและดำเนินการจัดงานสมเด็จพระ นเรศวรมหาราชที่หน้าศาลากลาง ประชาชนชาวจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียงก็จะมาเยี่ยมแวะชมและสักการะ ศาลสมเด็๗ฯ ไม่ขาดสาย สำหรับพระราชวังจันทน์เป็นที่ประทับของพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิ์กษัตรี และยังเป็นสถานที่พระราชสมภพของ พระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระเอกาทศรถ ซึ่งในปี พ.ศ. 2535 กรมศิลปากรได้ขุดพบแนวเขตพระราชฐานของพระราชวังจันทน์ในโรงเรียนพิษณุโลก พิทยาคมนับว่าเป็นการค้นพบ แหล่งโบราณคดีทางประวัติศาสตร์อันมีค่าของชาติไทย ปัจจุบันกรมศิลปกรยังไม่ได้กลบ ประชาชนทั่วไปขอเข้าชมได้
ก่อนที่จะถึงศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลกได้บูรณะวัดวิหารทอง ซึ่งติดกับสำนักงานที่ดินจังหวัด เดิมวัดวิหารทองเป็นวัดร้าง เมื่อได้รับการบูรณะทำให้เห็นฐานเจดีย์ใหญ่มาก แต่มีสภาพเป็นเนินและมีเสาศิลาแลง ขนาดใหญ่ 7 ต้น มีพระอัฏฐารสเป็นพระประธานหันหน้ามาทางฝั่งวัดพระพุทธชินราช แต่ปัจจุบันพระอัฏฐารส ประดิษฐานอยู่ที่วัดสระเกศ

2.2 พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของจ่าสิบเอก ดร.ทวี-พิมพ์ บูรณเขตต์ สร้างขึ้นด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวและหัวใจของความรัก ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นมรดกของชาติที่กำลังจะสูญหายไป ซึ่งคุณลุงจ่าท่านได้รวบรวม สะสม เสาะหา ขอซื้อ พยายามศึกษาและนำมาจัดรวบรวมสิ่งของต่างๆ ไว้เป็นหมวดหมู่ ไว้เป็นเรื่องราวได้อย่างเหมาะสมตามวิถีชีวิตไทยอย่างไม่ผิดเพี้ยน เพียงเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ได้เรียนรู้ของดีๆของชาติ สิ่งดีๆ ที่หลายคนลืมเลือนไป ให้กลับมามีชีวิตมีวิถีแห่งการปฏิบัติ หายากที่จะมีใครทำพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ตายแล้ว กลับมามีชีวิตเฉกเช่นพิพิธภัณฑ์ของคุณลุงจ่าไม่มีอีกแล้ว ตลอดชีวิตของคุณลุงจ่า ท่านทุ่มเทให้กับงานพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างมาก คนในจังหวัดพิษณุโลกทุกคนยอมรับกันทุกคนว่า คุณลุงจ่าของพวกเราท่านเป็นบุคคลที่เสียสละ เป็นช่างศิลป์ที่มีความสามารถหาตัวจับได้ยาก ท่านสามารถปั้นพระพุทธรูปในแบบพระพุทธชินราชได้งดงามคล้ายองค์จริงที่ ประดิษฐานอยู่ในวัดใหญ่ทีเดียว และท่านยังเป็นอาจารย์ของลูกศิษย์ลูกหาที่ออกไปทำอาชีพช่างปั้นพระในจังหวัด พิษณุโลกอีกหลายแห่ง ถ้าจะกล่าวว่าโรงหล่อปั้นพระพุทธรูปในจังหวัดพิษณุโลกเกือบทุกโรงส่วนใหญ่ ผ่านงานจากโรงหล่อบูรณะไทยโดยทั้งสิ้นก็ไม่ผิดนัก

สำหรับเรื่องพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้สะท้อนให้เห็นภาพวิถีชีวิตของคนไทยใน อดีตได้ดีกว่าที่ใหนๆ จะทำได้ เพราะคุณลุงจ่าท่านทำงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านด้วยหัวใจ ด้วยความรักและอาจกล่าวได้ว่าคุณลุงจ่าทำงานด้านพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านได้ดี กว่าพิพิธภัณฑ์บางแห่งที่ราชการให้การสนับสนุนเสียอีก คุณลุงจ่า( ผู้เขียนขออนุญาตเรียกนามที่เคยเรียกท่าน ) คุณลุงจ่าได้รับการยกย่องให้เป็น “เพชรน้ำเอกของวงการช่างศิลป์” “คนดีศรีพิษณุโลก” “บุคคลดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมสาขาช่างฝีมือ” นอกจากนี้ท่านยังได้รับปริญญกิตติมศักดิ์ดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยนเรศวรและ มหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของคุณลุงจ่า มีเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านหลายอย่างมากอาจกล่าวได้ว่าของทุกชิ้นที่มี ใช้ในอดีตเดี๋ยวนี้มาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เช่น ของในครัวเรือน เครื่องทอผ้า ผ้าไทยลายโบราณมากกว่า 700 ปี เครื่องเงิน เครื่องทองเหลือง เครื่องมือในการประกอบอาชีพ เรือนไทยในชนบทและข้าวของเครื่องใช้ในเรือน เครื่องดนตรี เครื่องปั้นดินเผา สิ่งของในพิพิธภัณฑ์มีเป็นหมื่นๆ ชิ้น ทุกชิ้นล้วนแต่หามาด้วยทุนของตนเอง นั่นเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เราเห็นถึงคนๆ หนึ่งที่อุทิศตนทั้งชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแรงกาย แรงใจและทุนทรัพย์เพียงเพื่อไม่ให้มรดกของชาติมลายไปกับอารยะธรรมที่กำลัง เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของคุณลุงจ่าทวี จะอยู่ได้ก็ด้วยพวกเราทุกคน เราชาวพิษณุโลกและแขกผู้มาเยือน จงช่วยกันทำนุบำรุงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของคุณลุงจ่า เวลาไปดูไปชมก็อย่างไปจับศิลปวัตถุต่างๆ ซึ่งจะทำข้าวของเสียหาย อุปกรณ์บางชิ้นในโลกนี้หาไม่ได้อีกแล้ว ขณะนี้คุณลุงจ่าของพวกเราอายุกว่า 70 ปีแล้ว ด้วยแรงกายของท่านเริ่มลดน้อยถอยลงตามกาลเวลาแห่งสังขารแต่ท่านเชื่อมั๊ย ว่า...พลังและแรงใจของท่านช่างเข้มแข็งยิ่งนัก บางครั้งท่านรู้หรือไม่ว่าเราที่มีกำลังวังชาดีๆ พลังจิตเรายังอ่อนแอกว่าท่านมากนัก ท่านพร้อมที่จะสร้างและดำเนินงานด้านพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านต่อไป แต่ไม่ใช่เพื่อตัวท่านเองหรอก เพื่อเราทุกคนไง...เพื่อนคนไทยทุกคนในแผ่นดินนี้ไง...โชดดีของแผ่นดินที่ ท่านเลี้ยงลูกสาวให้สืบทอดงานด้านพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านได้ดียิ่ง ขอเป็นกำลังใจให้กับน้องพรศิริ(ปู)บูรณะเขตต์ ได้ทำงานด้านพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านสืบต่อจากคุณลุงจ่าตลอดไป

เราท่านที่เข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของคุณลุงจ่า เมื่อได้ซาบซึ้งถึงมรดกแห่งชาติได้ใกล้ชิดกับบุคคลที่เสียสละให้กับสังคม ให้กับชาติอย่างมิอาจหาใครเสมอเหมือนได้ในงานด้านนี้ เราจงมาช่วยกันทำให้พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนี้ดำรงคงอยู่ได้ เพียงแค่เมื่อท่านจะกลับและจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไป ท่านควรช่วยบริจาคเงินทั้งค่าบำรุงและค่าใช้จ่าที่มีในงานนี้ ท่านอย่างลืมว่าคนที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ต้องมีชีวิต มีกำลังใจ พิพิธภัณฑ์จะกลับมามีชีวิตก็เพราะมีคนที่อยู่ที่นั่นทำงาน บุคคลเหล่านั้นกินข้าวเช่นเดียวกับพวกเรา เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคุณลุงจ่า น้องปู และครอบครัว เรามาช่วยกันพยุงให้พิพิธภัณฑ์ให้อยู่ได้บ้าง เพราะตลอดชีวิตของท่าน ท่านจ่ายเงินเพื่อซื้อศิลปะวัตถุ และรวบรวมให้เราคนรุ่นหลังได้เห็น ได้เรียนรู้ คุณลุงจ่าท่านเหน็ดเหนื่อยมามากแล้ว ในช่วงที่ท่านเริ่มชราและร่างกายทดถอย เราทุกคนจงมาช่วยกันเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ท่านและครอบครัวบ้างอย่าลืมช่วย กันจ่ายค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์และมีคำพูดที่สร้างสรรค์ คำพูดที่สร้างศิลปะในหัวใจให้กับบุคคลกลุ่มนี้บ้างนะคะ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจะอยู่ได้ก็ต้องมีทุน มีคนมาดำเนินการ อาศัยกินทุนเก่าตลอดไปไม่ได้ คุณลุงจ่าเป็นปุถุชนคนธรรมดาที่มีครอบครัว มีลูกๆ ที่ช่วยพ่อทำงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน ดังนั้นถึงเวลาที่เราจะต้องทำให้พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้อยู่ได้และอยู่ คู่เมืองพิษณุโลกตลอดไป

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี อยู่เลขที่ 26/138 ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ อ.เมือง จ. พิษณุโลก 65000
เปิดเวลา 08.30-16.30 น. โทร. 0-5521-2749



 

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ดีๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ