บทความที่ได้รับความนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พิธีไหว้ครู



พิธีไหว้ครู

          เดือนมิถุนายนวนเวียนมาถึงอีกครั้ง บรรดานักเรียนทั้งหลายคงจำกันได้ดีว่า วันพฤหัสบดีแรกของเดือนมิถุนายน จะเป็นวันไหว้ครู ซึ่งตามโรงเรียนต่าง ๆ ก็จะมีพิธีการระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์.... ซึ่งวันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับการไหว้ครูแบบดั้งเดิมในสมัยโบราณ ... ส่วนจะมีความแตกต่างจากปัจจุบันหรือไม่ อย่างไรนั้นลองไปอ่านดูกันเลย… แต่ก่อนอื่นกระปุกดอทคอมจะพาไปทำความรู้จักถึงความหมายของ วันไหว้ครู รวมทั้งที่ไปที่มาของคำว่า "ครู" กันก่อนค่ะ

          "ครู" มีความหมายว่า ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งมีผู้กล่าวว่ามาจากคำว่า ครุ (คะ-รุ) ที่แปลว่า "หนัก" อันหมายถึง ความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนของครูนั้น นับเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย กว่าคน ๆ หนึ่งจะเติบโตเป็นผู้มีวิชาความรู้ และเป็นคนดีของสังคม ผู้เป็น "ครู" จะต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเลย ซึ่งในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง นอกเหนือไปจากพ่อแม่ซึ่งเปรียบเสมือน "ครูคนแรก" ของเราแล้ว การที่เด็ก ๆ จะดำรงชีพต่อไปได้ในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี "ครู" ที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เพื่อปูพื้นฐานไปสู่หนทางทำมาหากินในภายภาคหน้าด้วย ดังนั้น "ครู" จึงเป็นบุคคลสำคัญที่เราทุกคนควรจะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน

          ด้วยเหตุนี้เอง "การบูชาครู" หรือ "การไหว้ครู" จึงเป็นประเพณีสำคัญที่มีมาแต่โบราณ และมีอยู่ในแทบทุกสาขาอาชีพของคนไทย ถือเป็นพิธีกรรมที่แสดงความเคารพ และระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ ครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์วิชาความรู้ให้ ทำให้เราสามารถนำไปประกอบวิชาชีพ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต

          ในความหมายของ "การไหว้ครู" ก็คือ การที่ศิษย์แสดงความเคารพ ยอมรับนับถือครูบาอาจารย์อย่างจริงใจ ว่าท่านเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการ จึงพร้อมใจกันปวารณาตัวรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เพื่อให้บรรลุปลายทางแห่งการศึกษาตามที่ตั้งใจเอาไว้ ซึ่งการไหว้ครูนี้ นอกจากจะเป็นธรรมเนียมอันดีงามที่มีส่วนโน้มน้าวจิตใจคนให้รักษาคุณความดี และช่วยธำรงรักษาวิทยาการให้สืบเนื่องต่อไปแล้ว การที่ศิษย์แสดงความเคารพยอมรับนับถือครูตั้งแต่เบื้องต้น ก็มีส่วนทำให้ครูเกิดความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ อยากมอบวิชาความรู้ให้อย่างเต็มที่ และศิษย์เองก็จะมีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด เกิดมั่นใจว่า ตนจะมีผู้คุ้มครองดูแล สั่งสอนให้ไปสู่หนทางแห่งความดีงาม และความเจริญก้าวหน้าแน่นอน

          พิธีไหว้ครู หรือ การไหว้ครู นี้มีหลายอย่าง เช่น การไหว้ครูนาฏศิลป์ ไหว้ครูดนตรี ไหว้ครูโหราศาสตร์ ไหว้ครูแพทย์แผนไทย เป็นต้น ซึ่งแต่ละอย่างก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไป เมื่อเอ่ยถึง พิธีไหว้ครู เรามักจะหมายถึง การไหว้ครูในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำในช่วงเปิดภาคการศึกษา

พานไหว้ครู
พานไหว้ครู ใน วันไหว้ครู

พานไหว้ครู
พานไหว้ครู ใน วันไหว้ครู

พานไหว้ครู
พานไหว้ครู ใน วันไหว้ครู


 กำหนดวันและเดือนที่นิยมประกอบพิธีไหว้ครู

          การ จัดพิธีไหว้ครูมีข้อกำหนดว่าให้กระทำพิธีเฉพาะวันพฤหัสบดี อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากพวกพราหมณ์ ซึ่งนับถือเทพเจ้านามพระพฤหัสบดีเป็นเทพฤทธิ์ ในฐานะปุโรหิตาจารย์ที่เคารพนับถือของพระอินทร์และเทวดาอื่น ๆ จึงนิยมไหว้ครูกันในวันพฤหัสบดี

          มีตำนานที่ถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู นอกจากนี้ยังถือกันว่าเวลากลางวันพระพฤหัสบดีเป็นธาตุไฟ และเป็นธาตุน้ำในเวลากลางคืน เป็นดาวพระเคราะห์ที่ให้วิทยาความรู้แก่มนุษย์ เราจึงถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู


 ความมุ่งหมายพิธีไหว้ครู
          1. เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล ด้วยการถวายเครื่องสักการะ พลีกรรมแก่ปรมาจารย์ทั้งหลายทั้งปวง ที่มาประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่ศิษย์

          2. เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดความมั่นใจในการเรียนนาฎศิลป์เป็นอย่างดี เมื่อได้ผ่านพิธีกรรมมาแล้ว

          3. เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ หากศิษย์ได้กระทำสิ่งที่ผิดพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรมก็ตาม

          4. เพื่อไว้สำหรับต่อท่ารำที่เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงที่มีความเชื่อมาแต่ โบราณว่า เพลงหน้าพาทย์บางเพลงจะต้องต่อท่ารำในพิธีไหว้ครู จึงจะเกิดเป็นสิริมงคลทั้งแก่ผู้สอนและผู้เรียน

          5. เพื่อเป็นสิ่งเตือนสติให้ศิษย์ระลึกถึงครู อันเป็นเครื่องเตือนใจที่จะประพฤติแต่ในสิ่งที่ดีงาม อยู่ในศีลธรรมจรรยา ตั้งตนอยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์

 ประโยชน์ที่ได้รับจากพิธีไหว้ครู

          1. สามารถทำให้เกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในฐานะที่เป็นศิษย์มีครูเหมือนกัน

          2. สามารถนำวิชาความรู้ที่เรียนมา ไปถ่ายทอดได้ด้วยความมั่นใจ โดยไม่ต้องกลัวว่า "ผิดครู"

          3. เป็นการสร้างศิษย์ให้มีความเชื่อมั่นในวิชาความรู้ที่ได้เรียนมา กล้าแสดงออกไม่เก็บตัว

          4. ทำให้มีความรู้กว้างขวางและเข้าใจในพิธีกรรมเช่นนี้อย่างชัดเจน

          5. เกิดความสบายใจหากได้ทำสิ่งใดผิดพลาดไป ก็จะได้เป็นการขอขมาครูไปด้วย

พานไหว้ครู
พานไหว้ครู ใน วันไหว้ครู

พานไหว้ครู
พานไหว้ครู ใน วันไหว้ครู


 การเตรียมพานไหว้ครู

          สมัยก่อน ครูประจำชั้นของแต่ละห้องจะคัดเลือกนักเรียนที่เรียนดีและมีมารยาทเรียบร้อย ผู้ชายหนึ่งคนและผู้หญิงหนึ่งคนเป็นตัวแทนนำพานดอกไม้ไปไหว้ครู และในเย็นวันพุธจะมีการแบ่งหน้าที่กันว่า ในเช้าวันพฤหัสบดี นักเรียนคนใดจะต้องนำอะไรมาโรงเรียนบ้าง เช่น บางคนมีพานเงินหรือพานแก้วก็จะเป็นคนเอาพานมา บางคนเอาทราย หรือดินเหนียวมาใส่พานเพื่อปักดอกไม้ บางคนต้องเอาธูปเทียนมา ส่วนนักเรียนที่เหลือให้ไปช่วยกันหาดอกไม้มา โดยมีดอกไม้ที่กำหนด คือ ดอกมะเขือ หญ้าแพรก ดอกเข็ม และดอกไม้อื่น ๆ เป็นต้น

          ตอน เช้าตรู่ วันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันไหว้ครู เด็ก ๆ จะไปโรงเรียนเช้าเป็นพิเศษ เพื่อไปช่วยกันจัดพานดอกไม้ ซึ่งอาจมีการปัก ดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบบ้าน แซมด้วยหญ้าแพรกและดอกมะเขือ โดยที่พานดอกไม้นี้เด็กนักเรียนหญิงจะเป็นคนถือ ส่วนเด็กผู้ชายจะถือธูปเทียนและช่อดอกไม้ ( ช่อดอกไม้หมายถึงดอกไม้ที่หาได้แล้วเอามัดมารวมกัน แซมด้วยหญ้าแพรกและดอกมะเขืออีกเช่นกัน)

          จะเห็นว่า พิธีไหว้ครูแต่โบราณไม่มีพิธีรีตรองมากนัก แต่มีความหมายแฝงไว้มากมาย คนโบราณเป็นนักคิดจะทำอะไรก็มักจะผูกเป็นปริศนาที่ลึกซึ้งเอาไว้เสมอ ในพิธีไหว้ครูก็เช่นเดียวกันเครื่องสักการะที่ใช้ในการไหว้ครูนั้น นอกจากธูป เทียน แล้วยังมีข้าวตอก ดอกมะเขือ ดอกเข็ม และหญ้าแพรก ซึ่งเป็นของหาง่ายและมีความหมาย 

 ความหมายของดอกไม้ต่างๆ ที่นิยมใช้ในการไหว้ครู

          ดอกมะเขือ เป็นดอกที่โน้มต่ำลงมาเสมอ ไม่ได้เป็นดอกที่ชูขึ้น คนโบราณจึงกำหนดให้เป็นดอกไม้สำหรับไหว้ครู ไม่ว่าจะเป็นครูดนตรี ครูมวย ครูสอนหนังสือ ก็ให้ใช้ดอกมะเขือนี้ เพื่อศิษย์จะได้อ่อนน้อมถ่อมตนพร้อมที่จะเรียนวิชาความรู้ต่าง ๆ นอกจากนี้มะเขือยังมีเมล็ดมาก ไปงอกงามได้ง่ายในทุกที่ เช่นเดียวกับ หญ้าแพรก

          หญ้าแพรก เป็นหญ้าที่เจริญงอกงาม แพร่กระจายพันธ์ ไปได้อย่างรวดเร็วมาก หญ้าแพรกดอกมะเขือจึงมีความหมายซ่อนเร้นอยู่ คนโบราณจึงถือเอาเป็นเคล็ดว่า ถ้าใช้หญ้าแพรกดอกมะเขือไหว้ครูแล้ว สติปัญญาของเด็กจะเจริญงอกงามเหมือนหญ้าแพรกและ ดอกมะเขือนั่นเอง

          ข้าวตอก เนื่องจากข้าวตอกเกิดจากข้าวเปลือกที่คั่วด้วยไฟอ่อน ๆ ให้ร้อนเสมอกันจนถึงจุดหนึ่งที่เนื้อข้างในขยายออก จนดันเปลือกให้แยกออกจากกัน ได้ข้าวสีขาวที่ขยายเม็ดออกบาน ซึ่งสามารถนำไปประกอบพิธีกรรม หรือทำขนมต่าง ๆ ได้ ดังนั้น ข้าวตอกจึงเป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย หากใครสามารถทำตามกฎระเบียบ เอาชนะความซุกซนและความเกียจคร้านของตัวเองได้ ก็จะเหมือนข้าวตอกสีขาวที่ถูกคั่วออกจากข้าวเปลือก

          ดอกเข็ม เพราะ ดอกเข็มนั้นมีปลายแหลม สติปัญญาจะได้แหลมคมเหมือนดอกเข็ม และก็อาจเป็นได้ว่า เกสรดอกเข็มมีรสหวาน การใช้ดอกเข็มไหว้ครู วิชาความรู้จะให้ประโยชน์กับชีวิต ทำให้ชีวิตมีความสดชื่นเหมือนรสหวานของดอกเข็ม  

พานไหว้ครู


พานไหว้ครู ใน วันไหว้ครู
 วันครู... ไหว้ครูวันนี้ 

          สำหรับ การไหว้ครูในปัจจุบันตามโรงเรียนต่าง ๆ มักจะเลือกวันในช่วงสัปดาห์แรก ๆ เพื่อจัดพิธีไหว้ครู ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตามสะดวกของสถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง ซึ่งความต่างของวันไหว้ครูในยุคนี้ เราจะสังเกตเห็นว่า เครื่องสักการะที่นักเรียนนำมาไหว้ครูนั้นนับวันจะหมดความหมายลงไปทุกที

          นักเรียนส่วนใหญ่มักซื้อดอกไม้ที่สวยงามจากตลาดแทนการใช้เครื่องสักการะที่ มีความหมายซึ่งใช้กันมาแต่โบราณ และมักไม่ใช้ความสามารถของตนในการจัดพานเครื่องสักการะครูส่วนใหญ่จะจ้างผู้ มีฝีมือในทางด้านนี้ทำให้แบบสำเร็จรูป

          ถ้าหากเราจะรณรงค์ให้มีการตระหนักถึงคุณค่าของการไหว้ครูอย่างแท้จริง โดยร่วมแรงร่วมใจกันจัดพาน ใช้ดอกมะเขือ หญ้าแพรกเป็นสื่อความหมายก็น่าจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย เพราะการปลูกมะเขือและหญ้าแพรกนั้นง่ายกว่าและประหยัดกว่าการซื้อดอกไม้อื่น ๆ มากมายนัก

          ว่า แต่วันครูปีนี้ ชวนเพื่อน ๆ มาจัดพานไปไหว้คุณครู เช่นครั้งวันวานกันมั่งดีกว่าไหม เพราะการทำพานไว้ครูเอง นอกจากจะให้คุณค่าทางจิตใจแล้ว ยังเป็นการสร้างความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกับเพื่อน ๆ นักเรียนอีกด้วย...


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
noknoi.comdhammajak.net และ culture.go.th

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผ่านมาแล้วแต่ก็ยังจำได้จ้า