บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประวัติพระพุทธชินราช





ประวัติพระพุทธชินราช

     พระ พุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีลักษณะงดงาม ซึ่งจัดได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุด องค์พระมีขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว (๒.๘๗๕ เมตร) สูงเจ็ดศอก (๓.๕ เมตร) หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขัดเงาเกลี้ยง เป็นพระพุทธรูปที่อยู่คู่เมืองพิษณุโลกมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล  สันนิษฐานว่าสมเด็จพระเอกาทศรถได้ทรงปิดทองเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๖ และเมื่อ ๒๔๗๘ ได้มีการลงรักปิดทองเต็มองค์อีกครั้งหนึ่ง ให้พุทธศาสนิกชนได้ สักการะ บูชาอยู่จนถึงปัจจุบัน  ปัจจุบันพระพุทธชินราชประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารทางทิศตะวันตกของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร องค์พระนั่งขัดสมาธิอยู่บนฐานชุกชีบัวคว่ำบัวหงายพระพักตร์หันไปทางทิศตะวัน ตก (ด้านริมแม่น้ำน่าน) มีซุ้มเรือนแก้วและสลักด้วยไม้สักลงรักปิดทอง ประดับเนื้อพระปฤษฎางค์ ประณีตอ่อนช้อยงดงาม มีความศักดิ์สิทธิ์ น่าเลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่ง และช่วยเน้นให้พระวรกายของพระพุทธชินราชงามเด่น ชัดเจนยิ่งขึ้น
     พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย แต่มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากสุโขทัยประยุกต์ เพราะเกศมีรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง วงพระพักตร์ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนมะตูม เช่น พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยมีพระอุณาโลมผลิ อยู่ระหว่างพระโขนง พระวรกายอวบอ้วนมี สังฆา ยาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ ฝังด้วยแก้วนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ฝ่าพระบาท แบนราบค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับยุคสุโขทัย ส้นพระบาทยาวมีรูป อาฬวก ยักษ์และรูปท้าวเวสสุวัณหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เฝ้าอยู่ที่พระเพลาเบื้องขวาและ ซ้ายขององค์ตามลำดับ
     วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือที่เรียกขานกันว่า  "วัดใหญ่"  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านในบริเวณตัวเมืองเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่างามที่สุดองค์หนึ่งของไทย พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปที่พุทธศาสนิกชนนับถือมาตั้งแต่โบราณ สันนิฐานว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท  โปรดให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกับพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาครั้งสถาปนา เมืองพิษณุโลกเป็นเมืองลูกหลวงในพุทธศักราช ๑๙๐๐ พระพุทธชินราชคือประจักษ์พยานถึงความสูงส่ง ทางฝีมือและความฉลาดลึกซึ้งของช่างในยุคนั้นนอกจากองค์พระจะงดงามโดยพุทธ ลักษณะคือเป็นการนำเอาลักษณะที่งามตามแบบอย่างพระพุทธรูปสุโขทัยกับ เชียงใหม่มาผสมผสานกันอย่างลงตัวแล้วการประดิษฐานองค์พระในจุดที่พอดีทั้ง เรื่องแสงเงาและมุมมองยังมีส่วนสำคัญให้เราได้รับความงามนั้นอย่างเต็มที่ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นฝีมือที่สร้างโดยมนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมานมัสการพระพุทธชินราชครั้งแรกในปี ๒๔๓๕ ทรงบันทึกไว้ว่า "เวลานั้นยังมิได้ปฏิสังขรณ์แก้ไขพระวิหารให้สว่างอย่างทุกวันนี้ พอไปถึงประตูวิหารแลเข้าไปข้างใน ดูที่อื่นมืดหมดเห็นแต่องค์พระชินราชตระหง่านงามเหมือนลอยอยู่ในอากาศ เห็นเข้าก็จับใจเกิดเลื่อมใสในทันที เพราะเขาทำช่องแสงสว่างเข้าทางประตูใหญ่ด้านหน้าแต่ทางเดียว พระชินราชตั้งอยู่ข้างในตรงประตูและเป็นของปิดทอง จึงแลเห็นก่อนสิ่งอื่นในวิหาร" ต่อมาได้มีการเจาะหลังคาวิหารให้แสงสว่างเข้าได้มากขึ้น ซึ่งกลับทำให้องค์พระไม่เด่นเช่นที่เป็นมาแต่โบราณ อีกประการหนึ่งได้แก่การกำหนดตั้งองค์พระให้หน้าตักอยู่ในระดับสายตาในวิหาร ซึ่งมีรูปทรงยาวเปรียบประดุจกล้องส่องกำกับระยะการมองให้ได้คมชัดที่สุดช่วย ให้เราเห็นความงามได้เต็มที่ ข้อนี้ท่านผู้รู้กล่าวไว้ว่าหากพระพุทธชินราชไปประดิษฐานอยู่ในวิหารสั้น ๆ และองค์พระตั้งอยู่สูงจนต้องแหงนหน้าดูจะไม่งามได้เท่าที่เป็นอยู่นี้ พระพุทธชินราชนั้นมิได้ "เป็นหลักเป็นศรี" เฉพาะแก่จังหวัดพิษณุโลกเท่านั้นดังที่พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงสรรเสริญว่า "ถ้าพระพุทธชินราชยังคงอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ตราบใดเมืองพิษณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้นถึงในเมือง พิษณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออยู่อีกเลย ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่เสมอว่า มีของควรดูควรชมอย่างยิ่งอย่างหนึ่งในเมืองเหนือ หรือจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ได้ "



คัดลอกมาจาก  http://www.banthanat.com/chinnarat/chin_his.php

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อยากรู้มานานแล้วจ้า ขอบคุณจ้า