บทความที่ได้รับความนิยม

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โคลงสี่สุภาพ


                   
                     โคลงสี่สุภาพเป็นคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองชนิดหนึ่ง ซึ่งมีปรากฏในวรรณคดีไทยมานานแล้ว วรรณคดีไทยฉบับที่เก่าและมีชื่อเสียงมากฉบับหนึ่งคือ "ลิลิตพระลอ" มีโคลงสี่สุภาพบทหนึ่งถูกยกมาเป็นบทต้นแบบที่แต่งได้ถูกต้องตามลักษณะบังคับ ของโคลงสี่สุภาพ คือนอกจากจะมีบังคับสัมผัสตามที่ต่าง ๆ แล้ว ยังบังคับให้มีวรรณยุกต์เอกโทในบางตำแหน่งด้วย กล่าวคือ มีเอก 7 แห่ง และโท 4 แห่ง เรียกว่า เอกเจ็ดโทสี่

การประพันธ์โคลงสี่สุภาพ

การประพันธ์โคลงสี่สุภาพเป็นประณีตศิลป์ ที่ใช้ถ้อยคำตัวอักษรเป็นสื่อแสดงความคิดของผู้สรรค์สร้าง ซึ่งต้องการสะท้อนอารมณ์สะเทือนใจและก่อให้ผู้อ่านคล้อยตามไปด้วย ผู้อ่านต้องรับรู้ความงามด้วยใจโดยตรง ดังนั้นผู้สร้างสรรค์งานวรรณศิลป์จึงต้องช่างสังเกต รู้จักพินิจพิจารณามองเห็นจุดที่คนอื่นมองข้ามหรือคาดไม่ถึง และใช้ถ้อยคำที่ละเมียดละไม ผลงานนั้นจึงจะทรงคุณค่า

ลักษณะโคลงสี่สุภาพ

คณะของโคลงสี่สุภาพ บทหนึ่งมี 4 บาท (เขียนเป็น 4 บรรทัด) 1 บาทแบ่งออกเป็น 2 วรรค โดยวรรคแรกกำหนดจำนวนคำไว้ 5 คำ ส่วนวรรคหลัง ในบาทที่ 1,2 และ 3 จะมี 2 คำ (ในบาทที่ 1 และ 3 อาจเพิ่มสร้อยได้อีกแห่งละ 2 คำ) ส่วนบาทที่ 4 วรรคที่ 2 จะมี 4 คำ รวมทั้งบท มี 30 คำ และเมื่อรวมสร้อยทั้งหมดอาจเพิ่มเป็น 34 คำ
ส่วนที่บังคับ เอก โท (เอก 7 โท 4) ดังนี้
บาทที่ 1 (บาทเอก) วรรคแรก คำที่ 4 เอก และคำที่ 5 โท
บาทที่ 2 (บาทโท) วรรคแรก คำที่ 2 เอก วรรคหลัง คำแรก เอก คำที่ 2 โท
บาทที่ 3 (บาทตรี) วรรคแรก คำที่ 3 เอก วรรคหลัง คำที่ 2 เอก
บาทที่ 4 (บาทจัตวา) วรรคแรก คำที่ 2 เอก คำที่ 5 โท วรรคหลัง คำแรก เอก คำที่ 2 โท
หนังสือจินดามณี ของ พระโหราธิบดี อธิบายการประพันธ์โคลงสี่สุภาพไว้ว่า
สิบเก้าเสาวภาพแก้ว
กรองสนธิ์
จันทรมณฑล
สี่ถ้วน
พระสุริยะเสด็จดล
เจ็ดแห่ง
แสดงว่าพระโคลงล้วน
เศษสร้อยมีสอง
  • เสาวภาพ หรือ สุภาพ หมายถึงคำที่มิได้กำหนดรูปวรรณยุกต์ ทั้ง เอก โท ตรี และจัตวา (ส่วนคำที่มีรูปวรรณยุกต์กำกับเรียกว่า พิภาษ)
  • จันทรมณฑล หมายถึง คำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์โท 4 แห่ง
  • พระสุริยะ หมายถึง คำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์เอก 7 แห่ง
  • รวมคำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์เอกและโท 11 คำ หรือ อักษร
  • โคลงสุภาพบทหนึ่งมี 30 คำ (ไม่รวมสร้อย)
  • คำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์เอก อาจใช้คำตายแทนได้
  • คำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์โท แทนด้วยคำอื่นไม่ได้ ต้องใช้รูปโทเท่านั้น
  • คำที่ไม่กำหนดรูปวรรณยุกต์ หรือคำสุภาพมี 19 คำ มีหรือไม่มีรูปวรรณยุกต์ก็ไม่ถือว่าผิด
  • ในชุด 19 คำแม้ไม่กำหนดรูปวรรณยุกต์ ในท้ายวรรคทุกวรรคต้องไม่มีรูปวรรณยุกต์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะจะทำให้น้ำหนักของโคลงเสียไป ได้แก่คำที่กากบาทในแผนผังข้างล่าง
๐ ๐ ๐ เอก โท
๐ X (๐ ๐)
๐ เอก ๐ ๐ X
เอก โท
๐ ๐ เอก ๐ X
๐ เอก (๐ ๐)
๐ เอก ๐ ๐ โท
เอก โท ๐ X
โคลงสี่สุภาพที่มีรูปวรรณยุกต์ ตรงตามบังคับนั้นมีตัวอย่างอยู่หลายเรื่อง เช่น ลิลิตพระลอ โคลงนิราศนรินทร์ โคลงนิราศพระประธม เป็นต้น ตัวอย่างจากหนังสือจินดามณี พระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ว่าดังนี้
นิพนธ์กลกล่าวไว้
เป็นฉบับ
พึงเพ่งตามบังคับ
ถี่ถ้วน
เอกโทท่านลำดับ
โดยที่ สถิตนา
ทุกทั่วลักษณะล้วน
เล่ห์นี้คือโคลง
การแต่งโคลงสี่สุภาพต่อกันหลายๆ บท เป็นเรื่องราวอย่างโคลงนิราศ โคลงเฉลิมพระเกียรติ โคลงสุภาษิต หรือโคลงอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ อาจทำได้ 2 ลักษณะ คือ โคลงสุภาพชาตรี และ โคลงสุภาพลิลิต
  • โคลงสุภาพชาตรี ไม่มีสัมผัสระหว่างบท ส่วนใหญ่กวีนิพนธ์แบบเก่าจะนิยมแบบนี้เป็นส่วนมาก
  • โคลงสุภาพลิลิต มีการร้อยสัมผัสระหว่างบท โดยคำสุดท้ายของบทต้นต้องส่งสัมผัสสระ ไปยังคำที่ 1 หรือ 2 หรือ 3 ในบทต่อไป
เช่น
1. บุเรงนองนามราชเจ้า
จอมรา มัญเฮย
ยกพยุหแสนยา
ยิ่งแกล้ว
มอญม่านประมวลมา
สามสิบ หมื่นแฮ
ถึงอยุธเยศแล้ว
หยุดใกล้นครา
2. พระมหาจักรพรรดิเผ้า
ภูวดล สยามเฮย
วางค่ายรายรี้พล
เพียบหล้า
ดำริจักใคร่ยล
แรงศึก
ยกนิกรทัพกล้า
ออกตั้งกลางสมร
3. บังอรอัคเรศผู้
พิศมัย ท่านนา
นามพระสุริโยทัย
ออกอ้าง
ทรงเครื่องยุทธพิไชย
เช่นอุปราชแฮ
เถลิงคชาธารคว้าง
ควบเข้าขบวนไคล
โคลงภาพเรื่องพระราชพงศาวดาร

สัมผัส

ดูเพิ่มที่ คำคล้องจอง
สัมผัสบังคับ เรียกอีกอย่างว่า "สัมผัสนอก" หมายถึงสัมผัสที่กำหนดเป็นแบบแผนในคำประพันธ์ เป็นสัมผัสสระ คือมีเสียงสระและตัวสะกดมาตราเดียวกัน ดังนี้
บาทแรก คำสุดท้ายของวรรคที่ 2 สัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรคแรก ในบาทที่ 2 และ 3
บาทที่ 2 คำสุดท้ายของวรรคที่ 2 สัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรคแรก ในบาทที่ 4
ในจินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี อธิบายสัมผัสบังคับของโคลงสี่สุภาพไว้ว่า
ให้ปลายบาทเอกนั้น
มาฟัด
ห้าที่บทสองวัจน์
ชอบพร้อง
บทสามดุจเดียวทัด
ในที่ เบญจนา
ปลายแห่งบทสองต้อง
ที่ห้าบทหลัง

คำสร้อย

คำสร้อยซึ่งใช้ต่อท้ายโคลงสี่สุภาพในบาทที่ 1 และบาทที่ 3 นั้น จะใช้ต่อเมื่อความขาด หรือยังไม่สมบูรณ์ หากได้ใจความอยู่แล้วไม่ต้องใส่ เพราะจะทำให้ "รกสร้อย"
คำสร้อยที่นิยมใช้กันเป็นแบบแผนมีทั้งหมด 18 คำ
  1. พ่อ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล
  2. แม่ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล หรือเป็นคำร้องเรียก
  3. พี่ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล อาจใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 หรือบุรุษที่ 2 ก็ได้
  4. เลย ใช้ในความหมายเชิงปฏิเสธ
  5. เทอญ มีความหมายเชิงขอให้มี หรือ ขอให้เป็น
  6. นา มีความหมายว่าดังนั้น เช่นนั้น
  7. นอ มีความหมายเช่นเดียวกับคำอุทานว่า หนอ หรือ นั่นเอง
  8. บารนี สร้อยคำนี้นิยมใช้มากในลิลิตพระลอ มีความหมายว่า ดังนี้ เช่นนี้
  9. รา มีความหมายว่า เถอะ เถิด
  10. ฤๅ มีความหมายเชิงถาม เหมือนกับคำว่า หรือ
  11. เนอ มีความหมายว่า ดังนั้น เช่นนั้น
  12. ฮา มีความหมายเข่นเดียวกับคำสร้อย นา
  13. แล มีความหมายว่า อย่างนั้น เป็นเช่นนั้น
  14. ก็ดี มีความหมายทำนองเดียวกับ ฉันใดก็ฉันนั้น
  15. แฮ มีความหมายว่า เป็นอย่างนั้นนั่นเอง ทำนองเดียวกับคำสร้อยแล
  16. อา ไม่มีความหมายแน่ชัด แต่จะวางไว้หลังคำร้องเรียกให้ครบพยางค์ เช่น พ่ออา แม่อา พี่อา หรือเป็นคำออกเสียงพูดในเชิงรำพึงด้วยวิตกกังวล
  17. เอย ใช้เมื่ออยู่หลังคำร้องเรียกเหมือนคำว่าเอ๋ยในคำประพันธ์อื่น หรือวางไว้ให้คำครบตามบังคับ
  18. เฮย ใช้เน้นความเห็นคล้อยตามข้อความที่กล่าวหน้าสร้อยคำนั้น เฮย มาจากคำเขมรว่า "เหย" แปลว่า "แล้ว" จึงน่าจะมีความหมายว่า เป็นเช่นนั้นแล้ว ได้เช่นกัน
นอกจากนี้มีคำสร้อยที่เรียกว่า "สร้อยเจตนัง" คือใช้ตามใจไม่ควรใช้ในงานกวีนิพนธ์ที่เป็นพิธีการ และไม่นิยมกัน
"หายเห็นประเหลนุช นอนเงื่อง งงง่วง" โคลงนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย
"พวกไทยไล่ตามเพลิง เผาจุด ฉางฮือ" โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
"ลัทธิท่านเคร่งเขมง เมืองท่าน ถือฮอ" โคลงภาพฤๅษีดัดตน

ตัวอย่าง

เสียงลือเสียงเล่าอ้าง
อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร
ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล
ลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้า
อย่าได้ถามเผือ
ลิลิตพระลอ

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สุดยอดค่ะ เยี่ยมไปเลยครับครูบัว พวกเราเป็นกำลังใจให้นะค่ะ

คุณชญาภรณ์ โตสมบัติ กล่าวว่า...

เป็นเรื่องที่มีประโยชน์มากค่ะ